9 กันยายน 2554 @ เหตุผล 5 ข้อ ทำไมผมถึงตัดสินใจทำสวนไผ่

สวัสดีครับเพื่อนๆ เป็นอีกครั้งนะครับ ที่ผมได้ทำเว็บบล็อกใหม่ขึ้นมา ต้องขอบคุณ Google ที่มีผลิตภัณฑ์ดีๆ ให้ผม และเราทุกคนได้ใช้งานแบบฟรีๆ กัน แต่สำหรับผมคงจะใช้มากเกินไปจนเต็มความจุมาตรฐานที่ให้ใช้ฟรี จึงต้องเสียเงินบ้างให้กับทาง Google เขานะครับ ไม่มากเพียง 5 US ต่อปี เท่านั้้นเองครับ

ขอบคุณ Google เสร็จก็มาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ ว่า "ทำไมผมถึงตัดสินใจทำสวนไผ่" ผมมีเหตุผลสำคัญ 5 ข้อ ซึ่งบางข้อ เพื่อนๆ ที่ตามอ่านบทความของผมมาหลายๆ บล็อก อาจจะไม่เคยทราบมาก่อน เอากันตั้งแต่ข้อแรกเลยนะครับ เมื่อเกือบ 15-16 ปีมาแล้ว ผมเคยเป็นพ่อค้าขายปุ๋ย นะครับ ขายแบบว่า ไปกินนอนกันที่บ้านของชาวบ้านบ้านที่เป็นเกษตรกรเลย นะครับ เอาตัวอย่างปุ๋ยไปแจกก่อนไปช่วยแก้ปัญหากับสวนที่ช้ฮอร์โมนมากแล้วตายทั้งไร่ ทำอยู่ 5-6 ปี โดยใช้เวลาส่วนตัว คือ พอเลิกงานวันศุกร์ตอนเย็นก็เดินทางไปต่างจังหวัด แล้วกลับมากรุงเทพฯ ในวันอาทิตย์ เมื่อประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ เปลี่ยนสถานะเป็นคนทุพพลภาพ ก็ตัดสินใจเลิกทำธุรกิจนี้ไปก่อน ยอมรับว่า เรื่องการทำธุรกิจด้านเกษตรนั้นอยู่ในสายเลือดอีกแขนงหนึ่ง และผมก็จะมีมุมมองด้านการตลาดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นหัวใจหลักของตัวผม ผมรู้ตัวตนของผมแล้ว ผมค้นพบตัวเองแล้วว่า ผมคือ "นักการตลาด" บวกกับผมมีความสุขในการเป็นผู้ให้ จึงอยากนิยามตัวเองว่า "ผมเป็นคนทุพพลภาพมืออาชีพ ที่เป็นนัการตลาด หัวใจ CSR" วันนี้นิยามนี้อาจจะยาวหน่อย ค่อยหาคำนิยามที่สั้นลง กระชับในอนาคตนะครับ

ดังนั้นเพื่อนๆ ก็จะพอประเมินได้ว่าผมมีความรู้ด้านเกษตรมาระดับหนึ่ง เหตุผลข้อที่สอง ที่ทำให้ผมอยากปลูกสวนไผ่ เพราะว่า ผมทราบมานานหลายปีแล้วว่า ไม้ไผ่ในประเทศไทย ในอนาึคตจะอยู่ในภาวะขาดแคลน คือ มี ความต้องการ (Demand) ในอนาคตรออยู่แล้ว พร้อมๆ กับที่ Supply จะมีไม่เพียงพอ เพราะว่าตอนนี้ใครๆ ก็แห่กันไปปลูกยางพารา กันหมด ที่สำคัญมากๆ คือ คนไทยชอบกินหน่อไม้ ถึงไม่มากเท่ากับข้าว และปริมาณการใช้ไม้ไผ่นั้นมีมาก เพราะผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไผ่ อยู่ใกล้ตัวเรามาก ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน

มาถึงข้อ 3 ที่เกี่ยวเนื่องกับข้อ 2 นะครับ คือ ต้นไผ่ ดูแลง่าย ไม่กลัวโรค เจริญเติบโตเร็วคล้ายข้าว และหญ้า ขยายพันธ์ยิ่งกว่าแบคทีเรียเสียอีก เพราะแบคทีเรียแตกหน่อ 1 เป็น 2 แต่ไผ่ไม่ใช่ ไผ่แตกหน่อ 1 เพิ่ม 3-4 หน่อ ลองคิดดูว่ามันจะขยายพันธุ์ได้รวดเร็วขนาดไหนนะครับ มากไปกว่านั้นอีกคือ ผมไ้ด้ฟังคนที่ปลูกสวนไผ่อยู่มาว่า ถ้าน้ำท่วมมา น้ำขัง ไผ่ตง จะไม่ตาย เนื่องจากลำต้นและใบโผล่พ้นน้ำ จึงทำให้ผมอยากทำสวนไผ่มากๆ ประกอบกับผมลองคำนวณดูแล้ว การลงทุนในการปลูกไผ่ นั้นไม่สูงมาก เก็บเกี่ยวเร็ว ไม่ต้องรอถึง 5-7 ปีเหมือนยางพารา คือถ้าใครใจร้อย ปลูกไปได้ 6-8 เดือนก็เริ่มเก็บเกี่ยวได้เลย แต่ส่วนตัวผมจะรอประมาณ 1 ปีก่อน ยกเว้นว่า ในการทำสวนไผ่ครั้งนี้ของผม ผมจะรื้อฟื้นธุรกิจปุ๋ย ไปด้วยในตัว ถ้าอัตราการเติบโตของสวนไผ่ของผมออกมาดี ผมอาจจะเก็บเกี่ยวผลผลิตเร็วขึ้นครับ ดังนั้นการทำสวนไผ่คราวนี้ เท่ากับผมได้เริ่ม 2 ธุรกิจพร้อมๆ กัน ยังไม่นับ งานด้าน CSR ที่ผมจะเชื่อมโยงในอนาคต ซึ่งอยากให้เพื่อนๆ ตามอ่านในบทต่อๆ ไปนะครับ

มาถึงเหตุผลในข้อที่ 4 ที่สำคัญไม่แพ้ข้อไหนๆ คือ ผมต้องการทำเป็นตัวอย่าง หรือทดลอง ให้เพื่อนสนิทผมได้เห็นว่า การทำสวนไผ่นั้นให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าสวนยางพารา เผื่อว่าเธอจะได้มีไว้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ เนื่องจากครอบครัวของเธอมีที่ดินผืนใหญ่ที่น่าทำสวนไผ่มากๆ ครับ และถ้าผลการทำนี้ออกมาดี จะดำเนินการสนับสนุนให้กลุ่มคนพิการตามต่างจังหวัดได้ทำเพื่อประกอบอาชีพ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอาชีพคนพิการไทย ด้วยครับ

และมาถึงข้อสุดท้ายแล้วนะครับ ข้อที่ 5 ซึ่งผมคิดว่า แทบไม่ต้องมาใช้เป็นเหตุเลย คงอยู่ในใจทุกคนอยู่แล้ว ก็คือ ผลตอบแทน ที่ผมลองคำนวณดูแล้ว เป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูงมากๆ สูงมากแค่ไหน เท็จจริงอย่างไร ผมจะนำมาเขียนในบทความต่อๆ ไปในอนาคตนะครับ เนื่องจากผมจะลงมือทำภายในปีนี้แล้วครับ ผมจะนำประสบการณ์จริงๆ มาเล่าให้เพื่อนๆ ได้อ่านกัน ความคืบหน้าต่างๆ ผมจะนำมาเล่าทุกขั้นตอนครับ อย่าลืมคอยลุ้นไปกับคนทุพพลภาพ อย่างผมไปด้วยนะครับ หวังว่าบทความนี้อาจจะกระตุกใครอีกหลายๆ คนได้ ถ้ากำลังจะคิดทำสวนเกษตรต่างๆ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจได้ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นคนพิการ หรือไม่พิการ คุณสามารถทำได้ทุกเรื่อง เท่าที่คุณจมีจินตนาการและตั้งใจไว้นะครับ จงช่วยเหลือผู้อื่น และทุกสิ่งทุกอย่างจะย้อนกลับมาช่วยตัวคุณเองครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น